หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารสกัดจากองุ่น และ การป้องกันโรคมะเร็ง


ถ้าใครเคยได้อ่านบทความจาก สารสกัดจากองุ่นแดง "ลดโรค ชลอวัย ยืดอายุ" จะพอทราบว่าองุ่นแดงจัดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากสารประกอบฟินอลิกที่พบในองุ่นแดง

ส่วนขององุ่นแดงที่มักจะพบสารประกอบฟินอลิกสูงคือ ส่วนผิวองุ่น และ เมล็ดองุ่น โดยที่ส่วนผิวองุ่นสารประกอบฟินอลิกที่เป็นตัวเด่นคือ เรสเวอราทรอล และ แอนโธไซยานิน ส่วนที่เมล็ดองุ่นคือ โปรแอนโธไซยานิดิน

ในบทความนี้จะกล่าวถึงสารสกัดจากผิวองุ่น หรือเรสเวอราทรอล และสารสกัดจากเมล็ดองุ่น หรือโปรไซยานิดินต่อความสามารถในการป้องกัน หรือ ต้านโรคมะเร็ง

เรสเวอราทรอล กับ การต้านมะเร็ง


เรสเวอราทรอล (Resveratrol หรือ trans-3, 4′, 5-trihydroxystilbene) เป็นสารประกอบฟินอลิกที่อยู่ในกลุ่มสติลบีนอยด์(Stilbenoid)  และจัดเป็นสารไฟโตอลีซิน(Phytoalexins) ซึ่งพืชผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ และโรคพืชต่างๆ

เชื่อว่าเรสเวอราทรอลเป็นสารที่มีผลกระทบต่อขั้นตอนในการพัฒนาการของโรคมะเร็ง ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น(Initiation) ขั้นก่อตัว(Promotion) และขั้นลุกลาม(Progression) โดยมีการศึกษามากมายในเซลล์มนุษย์ที่พบว่า เรสเวอราทรอลสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง เร่งการตายของเซลล์มะเร็ง และควบคุมกลไกการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง[1]

นอกจากนี้เรสเวอราทรอลยังมีฤทธิ์ส่งเสริมการรักษามะเร็งด้วยวิธีฉายแสง และยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง

เรสเวอราทรอลมีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งต่างๆ ในมนุษย์[2] ได้แก่

  • มะเร็งผิวหนัง
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่

เรสเวอราทรอลเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแตกตัวเป็นเมตาบอไลท์ต่างๆ ไ้ด้เร็วมากทำให้ค่าประสิทธิผลทางชีวภาพ(Bioavailability)ของเรสเวอราทรอลมีค่าต่ำ เนื่องจากร่างกายยังไ่ม่ทันได้ใช้ก็แตกตัวแล้ว จึงทำให้นักวิจัยทั้งหลายเป็นกังวลถึงประสิทธิภาพของเรสเวอราทรอลต่อการนำไปใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรค ซึ่งก็ได้มีความพยายยามที่คิดค้นสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างคล้ายเรสเวอราทรอลเพื่อต้องการเพิ่มความคงตัวเมื่ออยู่ในร่างกาย

แต่ก็มีงานวิจัยล่าสุดในปี 2013 ที่พบว่าถึงแม้เรสเวอราทรอลเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแตกตัวเป็นเมตาบอไลท์ต่างๆ แต่เมตาบอไลท์เหล่านั้นสามารถรวมตัวกลับได้ และยังคงมีประสิทธิภาพในการต้าน หรือป้องกันโรคมะเร็งได้ดังเดิม[3,4] ดังนั้นจึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดค้นเรสเวอราทรอลชนิดสังเคราะห์ เนื่องจากโดยแท้จริงแล้วเรสเวอราทรอลจากธรรมชาติก็มีประสิทธิภาพที่ดีอยู่แล้ว[4]

โปรแอนโธไซยานิดิน กับ การต้านมะเร็ง


สารสกัดจากเมล็ดองุ่น หรือ โปรแอนโธไซยานิดิน เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกัน และต้านโรคมะเร็งได้[5] อันได้แก่

  • มะเร็งผิวหนัง
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งช่องปาก


นอกจากนี้นักวิจัยจากศูนย์วิจัยมะเร็งรัฐโคโลราโด้ได้รายงานว่าสารสกัดจากเมล็ดองุ่นมีความสามารถในการเจาะจงในการกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีโดยที่ไม่ส่งผลต่อเซลล์ปรกติ และโดยเฉพาะยิ่งเป็นเซลล์ที่มีการลุกลามของมะเร็งมากสารสกัดจากเมล็ดองุ่นยิ่งเข้าไปกระตุ้นการตายได้มากขึ้น[6]


  1. Athar, M., Back, J. H., Tang, X., Kim, K. H., Kopelovich, L., Bickers, D. R., & Kim, A. L. (2007). Resveratrol: a review of preclinical studies for human cancer prevention. Toxicology and applied pharmacology, 224(3), 274-283.
  2. Srivastava, P., Prabhu, V. V., Yadav, N., Gogada, R., & Chandra, D. (2013). Effect of Dietary Resveratrol in the Treatment of Cancer. In Cancer Chemoprevention and Treatment by Diet Therapy (pp. 1-22). Springer Netherlands.
  3. Patel, K. R., Andreadi, C., Britton, R. G., Horner-Glister, E., Karmokar, A., Sale, S., ... & Brown, K. (2013). Sulfate Metabolites Provide an Intracellular Pool for Resveratrol Generation and Induce Autophagy with Senescence.Science Translational Medicine, 5(205), 205ra133-205ra133.
  4. Jonathan Benson. (2013). Resveratrol keeps fighting cancer even after body breaks it down into other compounds. (online). Available: http://www.naturalnews.com/042399_resveratrol_cancer_treatment_metabolic_process.html [Cited October 10, 2013]
  5. Kaur, M., Agarwal, C., & Agarwal, R. (2009). Anticancer and cancer chemopreventive potential of grape seed extract and other grape-based products.The Journal of nutrition, 139(9), 1806S-1812S.
  6. Derry, M., Raina, K., Agarwal, R., & Agarwal, C. (2012). Differential effects of grape seed extract against human colorectal cancer cell lines: the intricate role of death receptors and mitochondria. Cancer letters.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น