หน้าเว็บ

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

รับประทานองุ่น บรรเทา ข้ออักเสบ

จากการศึกษาล่าสุด(เมษายน 2014)ของมหาวิทยาลัยเท็กซัสวูเมน (Texas Woman's University) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้พบว่าการบริโภคองุ่นทั้งลูกเป็นประจำอาจมีส่วนช่วยให้อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น



โรคข้อเข่าเสื่อมมักเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ (มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี และมักพบในเพศหญิง) หรือไม่ก็ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งอาการของโรคนี้จะมีอาการปวดเขา มีเสียงในข้อเวลาเคลื่อนไหว และเคลื่อนไหวไม่สะดวกเนื่องจากอาการปวดเขา ซึ่งถ้าเป็นมากๆจะมีอาการอักเสบและเกิดการบวมได้

ในการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าอักเสบชายหญิงจำนวน 72 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้รับประทานองุ่นทั้งลูก(ในรูปผงที่ทำให้แห้งโดยการแช่แข็ง, freeze-dried powder)ในปริมาณ 47 กรัม และอีกกลุ่มให้รับประทานผงยาหลอก(Placebo) ซึ่งทำการศึกษาเป็นเวลา 4 เดือนพบว่า กลุ่มที่รับประทานองุ่นผงทั้งลูกจะมีอาการปวด และอาการต่างๆของข้อเข่าเสื่อมลดลง ซึ่งผลที่ดีขึ้นนี้จะเห็นได้ชัดในผู้หญิง

และยังพบว่ากลุ่มที่รับประทานองุ่นผงที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี จะสามารถดำเนินกิจกรรมหนักที่ต้องใช้ข้อเขาได้ดีมากขึ้นถึง 70% ในขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาหลอกกลับดำเนินกิจกรรมได้ลดลง   สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปพบว่าการดำเนินกิจกรรมหนักลดลงทั้งสองกลุ่ม  เมื่อพิจารณาถึงการอักเสบพบว่ามีการอักเสบเพิ่มขึ้นทั้งสองกลุ่มแต่กลุ่มที่ได้ยาหลอกมีการอักเสบเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับผงองุ่นประมาณ 3 เท่า

ซึ่งจากการศึกษาเชื่อว่าการบริโภคองุ่นทั้งลูกซึ่งสารสำคัญที่พบในผลองุ่นนั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเสื่อมได้ และอาจเป็นประโยชน์ในผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้


ที่มา

Tiernan, C., Small, R., Kwon, Y. H., Paulson, R., DiMarco, N., Imrhan, V., ... & Juma, S. (2014). Consumption of whole grape powder reduces joint pain and influences serum biomarkers in individuals with self-reported knee osteoarthritis (1025.10). The FASEB Journal28(1 Supplement), 1025-10.

Small, R., Tiernan, C., Kwon, Y. H., Paulson, R., Imrhan, V., Prasad, C., ... & Juma, S. (2014). Age-associated effect of freeze-dried grape powder on inflammatory markers and physical activity in adults with knee osteoarthritis (1025.8). The FASEB Journal28(1 Supplement), 1025-8.


วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Grape Flavonoids and Human Health

ฟลาโวนอยด์จากองุ่นดีต่อสุขภาพ


ฟลาโวนอยด์(Falvonoid) หรือไบโอฟลาโวนอยด์(Bio Flavonoid) คือ สารเมตาบอไลท์ทุติยภูมิ(Secondary Metabolite)ที่ได้จากพืชที่อยู่ในกลุ่มของสารประกอบฟินอลิก(Phenolic Compound) ซึ่งตัวอย่างที่พบในธรรมชาติได้แก่
  • ฟลาโวนอล(Flavonol) เช่น รูทิน(Rutin), เควอซิทิน(Quercetin), แคมพ์ฟิรอล(Kaempferol) และไมริซีทิน(Myricetin) เป็นต้น
  • ฟลาวาโนน(Flavanone) เช่น เอสเพอริดิน(Hesperidin) และนาริจิน(Naringin)เป็นต้น
  • ฟลาวานอล(Flavanol หรือ Flavan-3-ol) เช่น คาทิชิน(Catechin), ธีฟลาวิน(Theaflavin), โพรแอนโธไซยานิดิน(Proanthocyanidin)
  • ฟลาโวน(Flavone) เช่น อพิจินิน(apiginin)
  • แอนโธไซยานิน(Anthocyanin)






 
Photo CR: http://www.grit.com

ฟลาโวนอยด์ที่พบในองุ่น ได้แก่
แอนโธไซยานิน  พบมากในเปลือกองุ่นที่มีสีแดง หรือม่วงแดง (ไม่พบในองุ่นขาว)
ฟลาวานอล           พบมากในเมล็ดองุ่น โดยพบในเมล็ดองุ่นขาว(46-56% ของสารฟินอลิกทั้งหมด) มากกว่าเมล็ดองุ่นแดง(13-30% ของสารฟินอลิกทั้งหมด)
ฟลาโวนอล           พบในเปลือกองุ่นทั้งแดงและขาว แต่องุ่นแดงจะพบไมริซิทินด้วยในขณะที่องุ่นขาวไม่พบ

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าฟลาโวนอยด์ที่พบในองุ่นส่วนใหญ่จะพบที่เปลือก และเมล็ด


ประโยชน์ของฟลาโวนอยด์ในองุ่นต่อสุขภาพมนุษย์

คุณสมบัติเด่นของฟลาโวนอยด์ที่พบในองุ่นคือ ต้านอักเสบ และต้านออกซิเดชั่นซึ่งเป็นประโยชนต่อ
  • การทำงานของสมอง โดยสามารถป้องกันและบรรเทาโรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบสมองและประสาทได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์
  • ป้องกันการเกิดโรคอ้วน และเบาหวาน
  • ปกป้องตับจากพิษของสารเคมีต่างๆ เช่นอัลกอฮอล์ ป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบ
  • ป้องกันโรคหัวใจโดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเยื้อบุผนังหลอดเลือด ลดระดับไขมันและคอลเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือด เพิ่มการไหลเวียนเลือด ต้านอักเสบ ลดการเกิดลิ่มเลือด
  • ป้องกันโรคมะเร็ง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง






ที่มา
Wikipedia. (2014). Flavonoids (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Flavonoid [5 Feb 2014]

Georgiev, V., Ananga, A., & Tsolova, V. (2014). Recent Advances and Uses of Grape Flavonoids as Nutraceuticals. Nutrients, 6(1), 391-415.

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Grape skin and Obesity

“อ้วน” คือลักษณะที่มองภายนอกแล้วร่างกายมีรูปร่างที่ท้วม อวบ แต่พิจารณาถึงภายในแล้วความท้วม อวบ นั้นมาจากการสะสมของไขมันตามส่วนต่างๆในร่างกาย 

สาเหตุของความอ้วนที่ทุกคนเข้าใจกันดีคือ การได้รับพลังงานจากอาหารมากกว่าการนำไปใช้ของร่างกาย แต่บางท่านเคยสงสัยมั๊ยว่าบางคนรับประทานอาหารมาก แต่ทำไมไม่ค่อยอ้วน ในขณะที่บางคนระมัดระวังเรื่องการทานแต่ก็ยังอ้วน  นั้นเป็นเพราะระบบการเมตาบอลิซึมของแต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน  คนที่มีประสิทธิภาพการเมตาบอลิซึมสูงจะนำพลังงานจากอาหารไปใช้ได้ดีกว่าคนที่มีประสิทธิภาพต่ำ

การที่ร่างกายเรามีประสิทธิภาพในการเมตาบอลิซึมต่ำไม่ได้นำมาแค่ความอ้วน แต่นำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน(ประเภทที่ 2) และโรคเรื้อรังอื่นๆ

กลไกของร่างกายที่จะนำพาไปสู่ความอ้วน

การสะสมไขมันในร่างกาย
ในร่างกายเราจะมีเซลล์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่สะสมไขมันเราเรียกเซลล์นั้นว่า “อดิโพไซท์”(adipocyte) ซึ่งในเซลล์นี้จะประกอบไปด้วยเนื้อเยื้อไขมัน(adipose tissue)ที่ทำหน้าที่กักเก็บไขมันไว้เป็นแหล่งพลังงาน  นอกจากนี้อดิโพไซท์ยังมีความข้องเกี่ยวกับความไวอินซูลิน และการผลิตและหลั่งฮอรโมนต่างๆ เช่นฮอร์โมนเอสโตรเจน, ฮอร์โมนเลปติน(leptin) และอดิโพเนกติน(adiponectin)

ฮอร์โมนเลปติน และอดิโพเนกตินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมความหิวของเรา รวมถึงควบคุมความไวต่ออินซูลินของร่างกายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คนอ้วนจะมีการสะสมของมวลไขมันมากกว่าปรกติ ซึ่งจะหมายถึงมีการสะสมของเนื้อเยื้อไขมันในเซลล์อดิโพไซท์มากขึ้นทำให้เซลล์อดิโพไซท์มีขนาดใหญ่ (hypertrophy) รวมถึงการมีจำนวนเซลล์อดิโพไซท์มากขึ้น(hyperplasia)  ซึ่งเป็นเหตุให้ขนาดร่างกาย หรืออวัยวะต่างๆมีขนาดใหญ่ขึ้น

กระบวนการสร้างเซลล์ไขมัน หรือเซลล์อดิโพไซท์
เริ่มต้นจากเซลล์ตั้งต้น (multipotent mesenchymal stem cell; mms) ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์(proliferation) กลายเป็น เซลล์อดิโพไซท์ขั้นต้น(pre-adipocyte) จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา(differentiation)จนกลายเป็นเซลล์อดิโพไซท์สมบรูณ์(mature adipocyte) ซึ่งในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานี้จะมีการทำงานของยีนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งที่สำคัญได้แก่ PPARg และ C/EBPα โดยถ้ามีการแสดงออกของยีนสองตัวนี้มากก็จะกระตุ้นให้มีการสะสมของไขมันมากขึ้น


การสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันที่จะมาสะสมในเนื้อเยื้อ
การสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และเนื้อเยื้อไขมัน  ซึ่งเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่าง glycerol-3-phosphate และ กรดไขมัน 3 ตัว  โดยมีเอนไซม์มากมายหลายชนิดมีส่วนเกี่ยวข้อง  เอนไซม์ที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญในการสะสมไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันในเนื้อเยื้อได้แก่

glycerol-3-phosphate dehydrogenase (GPDH) เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราห์ glycerol-3-phosphate ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์  มีการศึกษาพบว่าในคนอ้วนเอนไซม์ GPDH จะมีกิจกรรมมากกว่าคนผอมประมาณ 2 เท่า(Swierczynski, et al., 2003)

fatty acid synthase (FAS) เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมันปาล์มมิติกจาก Acetyl CoA มีการศึกษาพบว่าถ้ามีกิจกรรมของกลุ่มเอนไซม์นี้เพิ่มขึ้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น และความไวต่ออินซูลินลดลงซึ่งอาจเป็นการพัฒนาไปสู่โรคอ้วน และโรคเบาหวาน(Berndt, et al., 2007)


การสังเคราะห์ไขมัน หรือ ไตรกลีเซอไรด์จากคาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน
โดยปรกติเมื่อเรารับประทานอาหารประเภทแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจะนำเอาไปใช้เพื่อเป็นพลังงานโดยผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึม แต่ถ้าเรารับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ คาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน(ส่วนหนึ่ง)จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นกรดไขมัน แล้วกลายเป็นไขมันสะสมอยู่ในเนื้อเยื้อไขมันของเซลล์อดิโพไซท์ได้


สารสกัดจากเปลือกองุ่นมีคุณสมบัติในการต้านโรคอ้วน

เรสเวอราทรอลเป็นสารที่พบในเปลือกองุ่นแดงซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น, ต้านการกลายพันธุ์, ต้านมะเร็ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีคุณสมบัติในการต้านโรคอ้วนได้อีกด้วย  ดังเช่นการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าเรสเวอราทรอลสามารถปกป้องการเกิดโรคต่างๆ ในหนูที่ให้กินอาหารที่มีพลังงาน และไขมันสูง(Baur, et al., 2006)

คุณสมบัติในการต้านโรคอ้วนของสารสกัดจากเปลือกองุ่น

หยุดยั้งการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์อดิโพไซท์ หรือเซลล์ไขมันโดยการ
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ GPDH(Zhang, et al., 2012)
  • ยับยั้งการแสดงออกของยีน PPARg และ C/EBPα(Zhang, et al., 2012; Jeong, et al., 2011)
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ FAS(Liang, et al., 2013)
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เอลฟาอไมเลส(α-amylase) (Miao, et al., 2014) ซึ่งจะทำให้การดูดซึมคาร์โบไฮเดรตของร่างกายลดลง เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และลดโอกาสในการเกิดคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินซึ่งจะกลายเป็นไขมันไปสะสมที่เนื้อเยื้อได้


อย่างไรก็ดีการควบคุมน้ำหนัก หรือการลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารให้มีพลังงานพอดี (ในกรณีต้องการควบคุม) หรือให้น้อยกว่า(ในกรณีต้องการลดน้ำหนัก) กับพลังงานที่เราใช้ในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา

Swierczynski, J., Zabrocka, L., Goyke, E., Raczynska, S., Adamonis, W., & Sledzinski, Z. (2003). Enhanced glycerol 3-phosphate dehydrogenase activity in adipose tissue of obese humans. Molecular and cellular biochemistry, 254(1-2), 55-59.
Berndt, J., Kovacs, P., Ruschke, K., Klöting, N., Fasshauer, M., Schön, M. R., ... & Blüher, M. (2007). Fatty acid synthase gene expression in human adipose tissue: association with obesity and type 2 diabetes. Diabetologia, 50(7), 1472-1480.
Baur, J. A., Pearson, K. J., Price, N. L., Jamieson, H. A., Lerin, C., Kalra, A., ... & Sinclair, D. A. (2006). Resveratrol improves health and survival of mice on a high-calorie diet. Nature, 444(7117), 337-342.
Zhang, X. H., Huang, B., Choi, S. K., & Seo, J. S. (2012). Anti-obesity effect of resveratrol-amplified grape skin extracts on 3T3-L1 adipocytes differentiation.Nutrition research and practice, 6(4), 286-293.
Jeong, Y. S., Jung, H. K., Cho, K. H., Youn, K. S., & Hong, J. H. (2011). Anti-obesity effect of grape skin extract in 3T3-L1 adipocytes. Food Science and Biotechnology, 20(3), 635-642.
Liang, Y., Tian, W., & Ma, X. (2013). Inhibitory effects of grape skin extract and resveratrol on fatty acid synthase. BMC Complementary and Alternative Medicine, 13, 361 (doi:10.1186/1472-6882-13-361) 
Miao, M., Jiang, H., Jiang, B., Zhang, T., Cui, S. W., & Jin, Z. (2014). Phytonutrients for controlling starch digestion: Evaluation of grape skin extract.Food chemistry, 145, 205-211.

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Resveratrol and Longevity

เรสเวอราทรอล กับ การยืดอายุสิ่งมีชีวิต


เรสเวอราทรอล(Resveratol) กับการศึกษาความสามารถในการยืดอายุสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ


มีการศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2012 (Hector, et al., 2012) ที่มีการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน(Meta-Analysis study) โดยมีการรวบรวมงานวิจัยจำนวน 19 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของเรสเวอราทรอลกับความสามารถในการยืดอายุของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ (spices) ต่างๆ โดยหาความสัมพันธ์อัตราการเสี่ยงในการตาย หรือ Hazard Ratio(HR) ระหว่างกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับเรสเวอราทรอล โดยถ้ามีค่าเท่ากับ 1 แสดงว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม แต่ถ้ามีค่าน้อยกว่า 1 แสดงว่า กลุ่มที่ได้รับเรสเวอราทรอลมีอัตราความเสี่ยงการตายต่ำกว่า

หัวข้อการศึกษา
Hazard Ratio
ค่าเฉลี่ยรวมทุกการศึกษา
0.629
หนอนตัวกลม (Caenorhabditis elegans)
รูปจาก www.mun.ca

0.510
ยีสต์ (Saccharomyces cerevisiae)
รูปจากhttp://www.evoluzioneculturale.it

0.574
ปลาครีบคู่ (Nothobranchius furzeri)
รูปจาก www.killi.co.uk

0.401
แมลงวันผลไม้ หรือแมลงวันทอง (Drosophila melanogaster)
รูปจาก http://whyevolutionistrue.wordpress.com


0.796
หนู (Mus musculus)
รูปจาก www.cepbrowser.org

0.865
แมลงวันผลไม้สายพันธ์แมกซิโก(Anastrepha ludens)
รูปจาก www.flickr.com

0.998

หมายเหตุ สิ่งมีชีวิตที่งานวิจัยต่างๆเลือกมาทดลองจะเลือกสายพันธุ์ที่มีอายุสั้นโดยปรกติเพื่อสามารถติดตามดูจนครบอายุได้

จากการศึกษาสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์พบว่า เรสเวอราทรอลสามารถลดอัตราความเสี่ยงการตายได้ในระดับปานกลางในกลุ่มหนอนตัวกลม ยีสต์ และปลาครีบคู่ ในแมลงวันทองมีแนวโน้มที่จะลดอัตราความเสี่ยงการตายได้ ส่วนในหนู และแมลงวันสายพันธุ์แม็กซิโก มีแนวโน้มที่ลดได้น้อย โดยเฉพาะในแมลงวันสายพันธุ์แม็กซิโกแทบจะไม่มีความแตกต่างจากลุ่มควบคุม

จากการศึกษานี้ยังพบว่าเรสเวอราทรอลมีผลในการลดอัตราความเสียงการตายอย่างมากในปลาครีบคู่ ซึ่งในบางงานวิจัยระบุว่าสามารถลดความเสียงในการตายได้ 500% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาพบว่าโดยธรรมชาติของปลาสายพันธุ์นี้เมื่ออายุเยอะมักจะตายเนื่องจากเนื้องอกที่ตับ และไต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเรสเวอราทรอลมีประสิทธิภาพที่มีความเจาะจงกับการเนื้องอกนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคของเรสเวอราทรอลให้ผลดีกับปลาครีบคู่เป็นพิเศษ

ผลจากงานศึกษานี้ได้ยืนยันถึงการกล่าวอ้างของเรสเวอราทรอลในการยืดอายุสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน หนอนตัวกลุ่ม ยีสต์ และ ปลาครีบคู่

การศึกษานี้เป็นการศึกษาฉบับแรกที่ได้มีการรวบรวมงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรสเวอราทรอลและการยืดอายุสัตว์ทดลองและมีการนำมาวิเคราะห์อภิมาน(meta-analysis)

การศึกษาของเรสเวอราทรอล(Resveratol) ในมนุษย์

ถึงแม้ในมนุษย์ยังไม่มีการศึกษาในสามารถยืนยันได้ว่าเรสเวอราทรอลสามารถยืดอายุได้อย่างเช่นในสัตว์ทดลองแต่ก็มีงานวิจัยหลายงานวิจัยที่สามารถกล่าวได้ว่าเรสเวอราทรอลสามารถ ป้องกัน และบรรเทาโรคร้ายต่างๆซึ่งเป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ได้

จากบทความของ Timmers และคณะ(2012) ได้สรุปงานวิจัยทางคลีนิกต่างๆที่มีการนำเรสเวอราทรอลมาใช้ในมนุษย์ ดังนี้

ภาวะเครียดออกซิเดชั่น และการอักเสบ

  • ลดการผลิตอนุมูลอิสระภายในร่างกายในผู้ใหญ่สุขภาพดี โดยไปลดกิจกรรมของเอนไซม์ และโปรตีนต่างๆที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ และการอักเสบในร่างกาย
  • ลดการเกิดภาวะเครียดออกซิชั่น และภาวะการอักเสบในผู้ชายและหญิงสุขภาพดีภายหลังการรับประทานอาหารที่มีไขมัน และแป้งสูง

โรคหัวใจหลอดเลือด

  • เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในผู้ชายและหญิงสุขภาพดี
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เยื้อบุผนังหลอดเลือดแดง(เพิ่มค่า Flow-mediated dilation)ในผู้ชายอ้วน และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เริ่มมีความดันโลหิตสูง(borderline hypertension)

โรคมะเร็ง

  • ยับยั้งวิถี Wnt(Wnt pathway) ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ลดการแบ่งตัวของเนื้องอกลง 5% ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารพิษ และสารก่อมะเร็งในผู้ชาย และหญิงสุขภาพดี
  • ลดการหลั่งฮอรโมน IGF-1 และ IGFBP-3 ในผู้ชาย และหญิงสุขภาพดีซึ่งมีสวนช่วยในการป้องกันมะเร็ง

เบาหวาน และโรคอ้วน

เริ่มจากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าเรสเวอราทรอลสามารถเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน(insulin sensitivity) และสามารถเพิ่มอัตราการใช้พลังงาน(energy expenditure ) ความสนใจในประสิทธิภาพของเรสเวอราทรอลในการนำไปใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคอ้วนจึงได้เริ่มขึ้น โดยเมื่อมีการนำไปใช้ในคนพบว่า
  • สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดภายหลังการอดอาหาร และหลังมื้ออาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • ลดภาวะดื้ออินซูลิน และภาวะเครียดออกซิเดชั่นในผู้ที่เป็นเบาหวาน
  • ลดระดับน้ำตาลสูงสุด(peak glucose)หลังมื้ออาหาร และระดับน้ำตาลภายหลังมื้ออาหาร 3 ชั่วโมง และเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดสู่เนื้อเยื้อในผู้สูงอายุที่มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง(impaired glucose tolerance)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญอาหารของคนอ้วนสุขภาพดี และยังส่งผลในการลดระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือด ลดการสะสมไขมันที่ตับ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไมโตคอนเดรียในเซลล์กล้ามเนื้อ และลดการอักเสบ


 ที่มาของข้อมูล
  • Hector, K. L., Lagisz, M., & Nakagawa, S. (2012). The effect of resveratrol on longevity across species: a meta-analysis. Biology Letters, 8(5), 790-793.
  • Timmers, S., Auwerx, J., & Schrauwen, P. (2012). The journey of resveratrol from yeast to human. Aging (Albany NY), 4(3), 146.