หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Grape skin and Obesity

“อ้วน” คือลักษณะที่มองภายนอกแล้วร่างกายมีรูปร่างที่ท้วม อวบ แต่พิจารณาถึงภายในแล้วความท้วม อวบ นั้นมาจากการสะสมของไขมันตามส่วนต่างๆในร่างกาย 

สาเหตุของความอ้วนที่ทุกคนเข้าใจกันดีคือ การได้รับพลังงานจากอาหารมากกว่าการนำไปใช้ของร่างกาย แต่บางท่านเคยสงสัยมั๊ยว่าบางคนรับประทานอาหารมาก แต่ทำไมไม่ค่อยอ้วน ในขณะที่บางคนระมัดระวังเรื่องการทานแต่ก็ยังอ้วน  นั้นเป็นเพราะระบบการเมตาบอลิซึมของแต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน  คนที่มีประสิทธิภาพการเมตาบอลิซึมสูงจะนำพลังงานจากอาหารไปใช้ได้ดีกว่าคนที่มีประสิทธิภาพต่ำ

การที่ร่างกายเรามีประสิทธิภาพในการเมตาบอลิซึมต่ำไม่ได้นำมาแค่ความอ้วน แต่นำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน(ประเภทที่ 2) และโรคเรื้อรังอื่นๆ

กลไกของร่างกายที่จะนำพาไปสู่ความอ้วน

การสะสมไขมันในร่างกาย
ในร่างกายเราจะมีเซลล์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่สะสมไขมันเราเรียกเซลล์นั้นว่า “อดิโพไซท์”(adipocyte) ซึ่งในเซลล์นี้จะประกอบไปด้วยเนื้อเยื้อไขมัน(adipose tissue)ที่ทำหน้าที่กักเก็บไขมันไว้เป็นแหล่งพลังงาน  นอกจากนี้อดิโพไซท์ยังมีความข้องเกี่ยวกับความไวอินซูลิน และการผลิตและหลั่งฮอรโมนต่างๆ เช่นฮอร์โมนเอสโตรเจน, ฮอร์โมนเลปติน(leptin) และอดิโพเนกติน(adiponectin)

ฮอร์โมนเลปติน และอดิโพเนกตินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมความหิวของเรา รวมถึงควบคุมความไวต่ออินซูลินของร่างกายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คนอ้วนจะมีการสะสมของมวลไขมันมากกว่าปรกติ ซึ่งจะหมายถึงมีการสะสมของเนื้อเยื้อไขมันในเซลล์อดิโพไซท์มากขึ้นทำให้เซลล์อดิโพไซท์มีขนาดใหญ่ (hypertrophy) รวมถึงการมีจำนวนเซลล์อดิโพไซท์มากขึ้น(hyperplasia)  ซึ่งเป็นเหตุให้ขนาดร่างกาย หรืออวัยวะต่างๆมีขนาดใหญ่ขึ้น

กระบวนการสร้างเซลล์ไขมัน หรือเซลล์อดิโพไซท์
เริ่มต้นจากเซลล์ตั้งต้น (multipotent mesenchymal stem cell; mms) ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์(proliferation) กลายเป็น เซลล์อดิโพไซท์ขั้นต้น(pre-adipocyte) จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา(differentiation)จนกลายเป็นเซลล์อดิโพไซท์สมบรูณ์(mature adipocyte) ซึ่งในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานี้จะมีการทำงานของยีนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งที่สำคัญได้แก่ PPARg และ C/EBPα โดยถ้ามีการแสดงออกของยีนสองตัวนี้มากก็จะกระตุ้นให้มีการสะสมของไขมันมากขึ้น


การสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันที่จะมาสะสมในเนื้อเยื้อ
การสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และเนื้อเยื้อไขมัน  ซึ่งเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่าง glycerol-3-phosphate และ กรดไขมัน 3 ตัว  โดยมีเอนไซม์มากมายหลายชนิดมีส่วนเกี่ยวข้อง  เอนไซม์ที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญในการสะสมไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันในเนื้อเยื้อได้แก่

glycerol-3-phosphate dehydrogenase (GPDH) เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราห์ glycerol-3-phosphate ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์  มีการศึกษาพบว่าในคนอ้วนเอนไซม์ GPDH จะมีกิจกรรมมากกว่าคนผอมประมาณ 2 เท่า(Swierczynski, et al., 2003)

fatty acid synthase (FAS) เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมันปาล์มมิติกจาก Acetyl CoA มีการศึกษาพบว่าถ้ามีกิจกรรมของกลุ่มเอนไซม์นี้เพิ่มขึ้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น และความไวต่ออินซูลินลดลงซึ่งอาจเป็นการพัฒนาไปสู่โรคอ้วน และโรคเบาหวาน(Berndt, et al., 2007)


การสังเคราะห์ไขมัน หรือ ไตรกลีเซอไรด์จากคาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน
โดยปรกติเมื่อเรารับประทานอาหารประเภทแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจะนำเอาไปใช้เพื่อเป็นพลังงานโดยผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึม แต่ถ้าเรารับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ คาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน(ส่วนหนึ่ง)จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นกรดไขมัน แล้วกลายเป็นไขมันสะสมอยู่ในเนื้อเยื้อไขมันของเซลล์อดิโพไซท์ได้


สารสกัดจากเปลือกองุ่นมีคุณสมบัติในการต้านโรคอ้วน

เรสเวอราทรอลเป็นสารที่พบในเปลือกองุ่นแดงซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น, ต้านการกลายพันธุ์, ต้านมะเร็ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีคุณสมบัติในการต้านโรคอ้วนได้อีกด้วย  ดังเช่นการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าเรสเวอราทรอลสามารถปกป้องการเกิดโรคต่างๆ ในหนูที่ให้กินอาหารที่มีพลังงาน และไขมันสูง(Baur, et al., 2006)

คุณสมบัติในการต้านโรคอ้วนของสารสกัดจากเปลือกองุ่น

หยุดยั้งการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์อดิโพไซท์ หรือเซลล์ไขมันโดยการ
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ GPDH(Zhang, et al., 2012)
  • ยับยั้งการแสดงออกของยีน PPARg และ C/EBPα(Zhang, et al., 2012; Jeong, et al., 2011)
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ FAS(Liang, et al., 2013)
  • ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เอลฟาอไมเลส(α-amylase) (Miao, et al., 2014) ซึ่งจะทำให้การดูดซึมคาร์โบไฮเดรตของร่างกายลดลง เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และลดโอกาสในการเกิดคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินซึ่งจะกลายเป็นไขมันไปสะสมที่เนื้อเยื้อได้


อย่างไรก็ดีการควบคุมน้ำหนัก หรือการลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารให้มีพลังงานพอดี (ในกรณีต้องการควบคุม) หรือให้น้อยกว่า(ในกรณีต้องการลดน้ำหนัก) กับพลังงานที่เราใช้ในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา

Swierczynski, J., Zabrocka, L., Goyke, E., Raczynska, S., Adamonis, W., & Sledzinski, Z. (2003). Enhanced glycerol 3-phosphate dehydrogenase activity in adipose tissue of obese humans. Molecular and cellular biochemistry, 254(1-2), 55-59.
Berndt, J., Kovacs, P., Ruschke, K., Klöting, N., Fasshauer, M., Schön, M. R., ... & Blüher, M. (2007). Fatty acid synthase gene expression in human adipose tissue: association with obesity and type 2 diabetes. Diabetologia, 50(7), 1472-1480.
Baur, J. A., Pearson, K. J., Price, N. L., Jamieson, H. A., Lerin, C., Kalra, A., ... & Sinclair, D. A. (2006). Resveratrol improves health and survival of mice on a high-calorie diet. Nature, 444(7117), 337-342.
Zhang, X. H., Huang, B., Choi, S. K., & Seo, J. S. (2012). Anti-obesity effect of resveratrol-amplified grape skin extracts on 3T3-L1 adipocytes differentiation.Nutrition research and practice, 6(4), 286-293.
Jeong, Y. S., Jung, H. K., Cho, K. H., Youn, K. S., & Hong, J. H. (2011). Anti-obesity effect of grape skin extract in 3T3-L1 adipocytes. Food Science and Biotechnology, 20(3), 635-642.
Liang, Y., Tian, W., & Ma, X. (2013). Inhibitory effects of grape skin extract and resveratrol on fatty acid synthase. BMC Complementary and Alternative Medicine, 13, 361 (doi:10.1186/1472-6882-13-361) 
Miao, M., Jiang, H., Jiang, B., Zhang, T., Cui, S. W., & Jin, Z. (2014). Phytonutrients for controlling starch digestion: Evaluation of grape skin extract.Food chemistry, 145, 205-211.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น